วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

สารเนื้อผสม

สารเนื้อผสม
     สารเนื้อผสม เป็นสารที่มองเห็นด้วยตาเปล่าไม่เป็นเนื้อเดียวกันตลอดทุกส่วน มีสมบัติของเนื้อสารในแต่ละส่วนต่างกันซึ่งระบุได้ชัดเจนว่ามีสารมากกว่า 1 อย่างเป็นองค์ประกอบ สารเนื้อผสมเป็นสารไม่บริสุทธิ์ซึ่งเราอาจเรียกว่า ของผสม ตัวอย่าง สารเนื้อผสม เช่น น้ำโคลน พริกเกลือ แกงส้ม ส้มตำ น้ำพริกปลาทู น้ำแกง ดิน เป็นต้น
     สารเนื้อผสม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ
สารแขวนลอย     สารแขวนลอย (Suspension) คือ ของเหลวที่มีอนุภาคของของแข็งขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่า 10-4 เซนติเมตรผสมอยู่ ซึ่งเป็นสารเนื้อผสมที่มีอนุภาคขนาดใหญ่ ทำให้สามารถมองเห็นส่วนผสมได้ชัดเจน ง่ายต่อการแยกออกเมื่อทิ้งไว้จะตกตะกอนและสามารถแยกสารที่แขวนลอยอยู่ในสาร เนื้อผสมออกมาได้โดยการกรอง สารแขวนลอยบางชนิดจะมองเห็นอนุภาคของสารชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดลอยกระจายอยู่ ในสารอีกชนิดหนึ่งที่เป็นตัวกลาง ตัวอย่างของสารแขวนลอย เช่น น้ำแป้ง น้ำตาลทรายในผงกำมะถัน น้ำโคลน เป็นต้น
คุณรู้หรือไม่ ?
     สเลอร์รี (Slurry) คือ สารแขวนลอยี่มีปริมาณของแข็งที่แขวนลอยอยู่เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างของสเลอร์รี่ที่พบ เช่น ซีเมนต์ผสมน้ำ ซึ่งมีลักษณะเหลวและข้น โดยปัจจุบันมนุษย์นำคุณสมบัติของสเลอร์รีมาใช้ประโยชน์โดยการนำซีเมนต์ผสมมา ใช้ในการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ
คอลลอยด์
     คอลลอยด์ (Colloid) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ดิสเพอร์ชัน (Dispersion) เป็นสารเนื้อผสมที่มีความกลมกลืนจนไม่อาจจัดเป็นสารเนื้อเดียวหรือสารเนื้อ ผสมลงไปได้อย่างแน่นอน มีขนาดของอนุภาคเล็กกว่าสารแขวนลอยแต่ใหญ่กว่าสารละลาย (อนุภาคมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-7 - 10-4 เซนติเมตร) ทำให้มองเห็นสารเป็นเนื้อเดียว
     อนุภาคของสารจะกระจายตัวและใหญ่กว่าอนุภาคของตัวละลายที่อยู่ในสารละลาย การที่สารสามารถกระจายตัวเป็นคอลลอยด์โดยไม่ตกตะกอน ก็เพราะว่าอนุภาคของสารที่เป็นคอลลอยด์อาจอยู่ในตัวกลางที่มีสถานะเป็นของ แข็ง ของเหลว หรือแก๊ส อนุภาคเหล่านี้สามารถผ่านกระดาษกรองได้แต่ไม่ผ่านกระดาษเซลโลเฟน
     คอลลอยด์บางชนิดเกิดขึ้นเองในธรรมชาติ เช่น เมฆบนท้องฟ้า หมอกในอากาศ บางชนิดเป็นคอลลอยด์ที่มนุษย์ทำขึ้นเพื่อใช้เป็นอาหารหรือใช้งานในด้านต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น น้ำนม น้ำสลัด น้ำกะทิ ควันบุหรี่ ฝุ่นละอองในอากาศ และสีทาบ้าน
     คอลลอยด์บางชนิดที่มนุษย์ทำขึ้น โดยการผสมสาร 2 ชนิดที่ไม่รวมตัวกัน แล้วเติมสารที่ทำหน้าที่เป็นตัวประสานทำให้สาร 2 ชนิด รวมตัวกันอยู่ได้ สารที่เป็นตัวประสารนี้ เรียกว่า อิมัลซิไฟเออร์ (Emulsifier) และเรียกคอลลอยด์ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีนี้ว่า อิมัลซัน (Emulsion) เช่น น้ำสลัด ซึ่งประกอบด้วยน้ำมันพืชที่ผสมรวมกับน้ำสัมสายชูโดยมีไข่แดงเป็นอิมัลซิไฟ เออร์ (น้ำมันพืชกับน้ำส้มสายชูไม่รวมตัวกัน)
                                                     ตาราง แสดงชนิดของคอลลอยด์ในชีวิตประจำวัน
                      
อนุภาคระดับนาโน
     อนุภาคระดับนาโน คือ อนุภาคที่มีขนาดเล็กมาก มีขนาดเกือบเท่าขนาดของอะตอมของธาตุ นั่นคือ อะตอมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-10 เมตร หรือ 0.0000000001 เมตร ส่วนอนุภาคระดับนาโนมีขนาดโตกว่าอะตอมเล็กน้อยคือ มีขนาด 10-9 เมตร หรือ 0.000000001 เมตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กำลังคิดสร้างอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กมาก ๆ เท่ากับอนุภาคของนาโน เรียกว่า เครื่องจักรโมเลกุล ซึ่งจะมีประโยชน์ทั้งในด้านอุตสาหกรรม ด้านการแพทย์ และอื่น ๆ

ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
ถนัด ศรีบุญเรือง  และคณะ . วิทยาศาสตร์ ม. 1 . พิมพ์ครั้งที่ 1 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์ .


http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=2220

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น