วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

แวดวงวิทยาศาสตร์

“ยูริ กาการิน” ผู้แรกสู่อวกาศ ย่างก้าวที่มีชัยแต่กล้บจากไปอย่างปริศนา
มุมที่ "ยูริ กาการิน" เห็น เมื่อ 50 ปีก่อน


ดาวที่กาการินเอ่ยชมว่า "งดงาม" เมื่อยามเป็นมนุษย์คนแรก เดินทางผู้เดียวในอวกาศ (ISS Expedition 7 Crew, EOL, NASA)


วัน ที่ 12 เม.ย.1961 นับเป็นวันที่ "ยูริ อะเลคเสเยวิช กาการิน" (Yuri Alexseyevich Gagarin) เดินทางออกสู่นอกโลก เป็นครั้งแรกของตัวเขาและของมวลมนุษยชาติ

ระหว่างที่ยานวอสตอก 1 นำพาเขาห่างออกไปจากโลกที่ระยะ 200 ไมล์ พร้อมทั้งวนโคจรรอบโลก กาการินได้รายงานภาพที่ประจักษ์แก่สายตาสู่ศูนย์ควบคุมในโซเวียตว่า "ท้องฟ้ามืดสนิท โลกเป็นสีน้ำเงินเขียวใส ทุกสิ่งทุกอย่างมองได้อย่างชัดเจน"

ในห้วง 50 ปีก่อนนั้น คงไม่มีผู้ใดจินตนาการตามกาการินได้ และนี่คือภาพที่บันทึกไว้ในปี 2003 จากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ที่เชื่อว่าเป็นมุมมองเดียวกับที่กาการินเห็น และบรรยายไว้ในวันที่สร้างประวัติศาสตร์หน้าสำคัญให้แก่วงการอวกาศโลก


“ยูริ กาการิน” ผู้แรกสู่อวกาศ ย่างก้าวที่มีชัยแต่กล้บจากไปอย่างปริศนา

ใช่ ว่าไม่มีใครอาสารับหน้าที่นี้ แต่คนที่ตัดสินใจรับภารกิจเป็นมนุษย์คนแรก ที่ขึ้นไปสัมผัสอวกาศต้องมีความกล้าหาญอยู่ไม่น้อย เพราะผลลัพธ์อาจเป็นไปได้ว่า เขาคนนั้นจะไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตบนโลกอีกเลย แต่ “ยูริ กาการิน” ก็ปลอดภัยกลับมา และเป็นแต้มต่อให้รัสเซียแซงหน้าสหรัฐฯ ไปอีกช่วงตัวในยุคสงครามเย็น

ก่อนที่จะส่งมนุษย์ขึ้นไปท่องอวกาศ มีสุนัข 48 ตัว ที่ขึ้นไปสัมผัสประสบการณ์นอกโลก แต่ 20 ตัวในจำนวนนั้นไม่ได้กลับผจญชีวิตบนโลกอีกเลย รวมถึง “เจ้าหมาไลกา” (Laika) สัตว์ตัวแรกที่ได้ขึ้นไปท่องอวกาศด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นการหยุดยั้ง ยังมีความพยายามมากขึ้นไปอีกขั้น ในการส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศ

ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) เป็น 1 ในอาสาสมัคร 20 คน ที่เข้าร่วมฝึกบินในโครงการลับ ที่ระบุเพียงว่าเป็นการฝึก “อุปกรณ์ประเภทใหม่” (new type of apparatus) โดยมีการฝึกในกรุงมอสโกว์และเมืองใกล้ๆ ของอดึตสหภาพโซเวียต และการมีการคัดตัวมาเรื่อยๆ จนเหลือเพียงเขา ที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวจริงและเยอร์มาน ติตอฟ (Gherman Titov) เป็นตัวสำรอง

วันสำคัญของวงการอวกาศ

วันสำคัญมาถึงในวันที่ 12 เม.ย.1961 ทั้งกาการินและติตอฟตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อมุ่งหน้าสู่ฐานปล่อยจรวด และเวลา 09.07 น. ก็เป็นเวลาสำคัญของวงการอวกาศรัสเซียหรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้น เมื่อกาการินทะยานฟ้าไปพร้อมกับยานวอสตอก 1 (Vostok 1) และได้ตะโกนคำว่า “ไปกันเลย!” ในภาษารัสเซียที่ออกเสียงว่า “โปเยคฮาลืย์!” (Poyekhali) หากแต่เอเอฟพีระบุว่าคำดังกล่าวยังถอดความได้ว่า “เรากำลังออกไปแล้ว!” ได้เช่นกัน

หลังโคจรรอบโลก 108 นาทีกาการินได้กลับสู่ชั้นบรรยากาศโลก และดีดตัวออกจากยานที่ความสูง 7,000 เมตร ตามแผน และโดดร่มลงสู่พื้นโลกในเมืองซาราตอฟ (Saratov) ซึ่งอยู่ในรัสเซียตอนกลาง โดยผู้ที่พบเขาคนแรกเป็นชาวไร่ชื่อ อันนา ตักฮตาโรวา (Anna Takhtarova) และหลานสาววัย 4 ขวบคือ มาร์การิตา (Margarita)

ภายหลังมาร์การิตาให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นว่า เธอเห็นตัวประหลาดสีส้มหัวใหญ่ๆ เดินตรงมาที่เธอและย่า แล้วย่าของเธอได้ช่วยกาการินถอดหมวกนิรภัยออก โดยกดปุ่มบางอย่าง และเมื่อเห็นใบหน้าที่ยิ้มให้อยู่เบื้องหน้า ทั้งย่าและหลานจึงได้เข้าใจว่าสิ่งที่ยืนอยู่ตรงหน้านั้นคือมนุษย์

หากแต่เป็นเวลาหลายปี ที่สหภาพโซเวียตปกปิดเรื่องการกระโดดร่มลงพื้นโลก เพราะว่าตามกฎการบินของโลกในสมัยนั้น ผู้ที่จะนำยานพาหนะลงจอดได้ต้องได้รับการอนุญาตตามกฎหมาย

ลูกช่างไม้ได้ท่องอวกาศ

กาการินเกิดเมื่อปี 1939 โดยเป็นลูกของช่างไม้ และในปี 1941 นาซีได้เข้ายึดครองหมู่บ้านของเขา ที่อยู่ทางตะวันตกของรัสเซีย เขาจึงไม่ได้ไปโรงเรียนจนถึงปี 1943 แต่หลังจากเรียนจบ 7 ปีในโรงเรียน เขาก็ได้รับการฝึกฝนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอาชีพในโรงงาน ไม่ต่างจากชาวโซเวียตอีกหลายล้านคนในยุคนั้น

ด้วยความหลงใหลในเครื่องบินมาตั้งแต่เด็ก กาการินได้เข้าร่วมชมรมการบินเมื่ออายุ 20 ปี และต่อมาได้รับการฝึกให้เป็นนักบินสู้รบในโรงเรียนฝึกทหาร และได้สมัครเป็นตัวแทนมนุษย์อวกาศคนแรกในโครงการลับเมื่อปี 1959 แม้จะมีส่วนสูงเพียง 160 เซนติเมตร และได้รับเลือกด้วยเหตุผลว่า เขาเป็นมิตรกับทุกคนและมีบุคลิกที่เข้าถึงประชาชน

จากคำเปิดเผยของ บอริส วอลินอฟ (Boris Volynov) นักบินอวกาศรัสเซีย ผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับกาการินกล่าวว่า บุคลิกของกาการินไม่ใช่ผู้นำ แต่เขาเป็นมิตรกับทุกคน และยังได้รับการปฏิบัติจาก เซอร์เกย์ โคโรยอฟ (Sergei Korolev) เจ้าพ่อแห่งวงการอวกาศรัสเซีย ผู้อยู่เบื้องหลังการส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 (Sputnik1) และการส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศราวกับเป็นลูกชายตัวเอง

ตายปริศนา

หลังสร้างประวัติศาสตร์ให้วงการอวกาศได้เพียง 7 ปี กาการินก็จบชีวิตลง หลังประสบอุบัติเหตุจากซ้อมขับเครื่องบินรบเมื่อวันที่ 27 มี.ค.1968 โดยเครื่องเครื่องบินรบตระกูล “มิก” (Mig fighter) ที่เขาซ้อมรบร่วมกับครูฝึกคือ วลาดิมีร์ เซอร์ยอกิน (Vladimir Seryogin) ได้ตก ในแคว้นวลาดิมีร์ซึ่งอยู่นอกกรุงมอสโกว์

อุบัติเหตุครั้งนี้ ไม่ได้รับการอธิบายอย่างชัดเจน บ้างว่าอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนระดับเพดานบินอย่างรวดเร็วเพื่อ หลบหลีกสิ่งกีดขวาง บ้างว่าถูกโจมตีโดยอากาศยานอื่น บ้างก็ว่าขาดออกซิเจนในห้องโดยสาร

นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานว่า อุบัติเหตุดังกล่าวอาจเกิดมีสาเหตุจากนักบินร่วมของเขา หรืออาจเป็นคำสั่งของ เลโอนิด เบรซเนฟ (Leonid Brezhnev) ผู้นำโซเวียตคนใหม่ ที่อิจฉาความโด่งดังของเขา

การเสียชีวิตของกาการิน ได้รับการบันทึกจากคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต และสภารัฐมนตรีในวันที่ 28 พ.ย.1968 ว่าเป็นเรื่อง “ลับเฉพาะ” ซึ่งเอกสารของคณะกรรมการระบุว่า การซ้อมรบของกาการินและนักบินร่วมนั้น ได้นำเครื่องบินไปเผชิญกับภาวะวิกฤต และการหยุดทำงานกลางคันของเครื่องยนต์ ท่ามกลางสภาพอากาศอันย่ำแย่

มีข้อสันนิษฐานมากมายเกี่ยวกับสาเหตุการตายของกาการิน แต่ทั้งหมดล้วนไม่มีหลักฐานรองรับ แต่ล่าสุดสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ทางการของรัสเซียได้เปิดเผยเอกสารที่ไม่เป็นความลับอีกต่อไป ซึ่งระบุว่า ความตายอันเป็นปริศนาของเขานั้นเกิดการซ้อมรบเพื่อหลบบอลลูนตรวจสภาพอากาศ อย่างฉับพลัน

แม้สหภาพโซเวียตจะล้มสลายไปแล้ว แต่กาการินก็ยังกลายเป็นวีรบุรุษในยุคคอมมิวนิสต์ไม่กี่คน ที่ยังได้รับศรัทธาอย่างไม่เสื่อมคลาย สเปซเดลีรายงานว่า เมื่อปี 2010 ที่ผ่านมากาการินติดอันดับสูงของในการสำรวจบุคคลสำคัญ อันเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติแห่งศตวรรษที่ 20 โดยได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 18-24 ปี.


ภาพยูริ กาการิน ขณะนั่งรถโดยสารไปขึ้นยานวอสตอก 1 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.1961 (เอเอฟพี)


กาการินเยือนลอนดอนเมื่อวันที่ 11 ก.ค.1961 ไม่กี่เดือนหลังขึ้นไปสัมผัสอวกาศ (เอเอฟพี)


กา การิน พร้อมวาเลนตินา (Valentina) ภรรยา และ เยเลนา (Yelena) ลูกสาว ถ่ายร่วมกันระหว่างพักผ่อนริมแม่น้ำคลีอัซมา (Klyazma) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.1960 ก่อนท่องอวกาศในปีต่อมา (เอเอฟพี)


จรวดนำยานวอสตอก1 ทะยานฟ้าในวันที่ 12 เม.ย.1961 วันที่มนุษย์แรกได้สัมผัสอวกาศ (เอเอฟพี)


ยานวอสตอก 1 ตกห่างจากกรุงมอสโกว์ออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 700 กิโลเมตร โดยยานตกมาเปล่าๆ ส่วนกาการินโดดร่มแยกออกมา (เอเอฟพี)


รูปปั้นกาการินหน้าศูนย์แสดงนิทรรศการรัสเซีย (All-Russian Exhibition Center: VVTs) ในกรุงมอสโกว์ (เอเอฟพี)


ภาพยนตร์เรื่อง First Orbit ฉลอง 50 ปีการส่งมนุษย์อวกาศครั้งแรก (ความยาว 1 ชั่วโมง 39 นาที 15 วินาที)


ที่มา
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000045879
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000045939

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น