วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

สารละลาย

สารละลาย
     นอกจากธาตุและสารประกอบแล้ว สารต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวของเรานั้นอาจจะเกิดจากการผสมของธาตุกับธาตุ เช่น นากเกิดจากการผสมของสารประกอบกับสารประกอบ เช่น น้ำเชื่อมเกิดจากการผสมของน้ำกับน้ำตาล เราเรียกสารที่เกิดจากการผสมเหล่านี้ว่า สารละลาย
     สารละลาย (Solution) หมายถึง สารเนื้อเดียวที่เกิดจากสารตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปมาผสมรวมกัน โดยอัตราส่วนของการผสมไม่คงที่ และสารที่เกิดขึ้นจากการผสมนี้จะแสดงสมบัติที่ต่างไปจากสารเดิม
สถานะและองค์ประกอบของสารละลาย
     สารละลายทุกประเภทต้องมีองค์ประกอบอยู่ 2 ส่วน คือ ตัวละลาย (Soulute) และตัวทำละลาย (Solvent) ซึ่งอาจจะเป็นของแข็ง ของเหลว หรือแก๊สก็ได้ ในชีวิตประจำวันเราสามารถพบสารละลายได้ทั้ง 3 สถานะ
                                                  ตาราง ตัวอย่างสารละลายในสถานะต่าง ๆ            
     ในการพิจารณาว่าสารละลายนั้น ๆ มีสารใดเป็นตัวทำละลายและตัวละลาย มีหลักในการพิจารณา ดังนี้
     1)  ถ้าทั้งตัวทำละลายและตัวละลายมีสถานะเดียวกับสารละลาย สารที่มีปริมาณมากที่สุด จะเป็นตัวทำละลายสำหรับตัวละลายจะเป็นสารที่มีปริมาณน้อยกว่า เช่น สารละลายแอลกอฮอล์ 70% ซึ่งเป็นสารละลายที่มีแอลกอฮอล์ 70 ส่วน ผสมอยู่กับน้ำ 30 ส่วน แสดงว่าแอลกอฮอล์เป็นตัวทำละลาย ส่วนน้ำเป็นตัวละลาย
     2)  ถ้าตัวทำละลายและตัวละลายมีสถานะต่างกัน สารที่มีสถานะเหมือนกับสารละลายเป็นตัวทำละลาย สำหรับสารที่มีสถานะแตกต่างจากสารละลายจะเป็นตัวละลาย เช่น น้ำเชื่อม ซึ่งเป็นสารละลายที่เกิดจากน้ำตาลทรายละลายในน้ำ โดยที่น้ำเชื่อมที่มีสถานะเป็นของเหลว ดังนั้น น้ำตาลจึงเป็นตัวละลายและน้ำเป็นตัวทำละลาย
คุณรู้หรือไม่ ?
     ความสามารถในการละลายของตัวละลายในตัวทำละลายใด ๆ มีเกณฑ์ดังนี้
     ละลายได้ดี : ตัวละลายละลายได้มากกว่า  1 กรัม ในตัวทำละลาย 100 กรัม
     ละลายได้เล็กน้อย : ตัวละลายละลายได้ 0.1-1 กรัม ในตัวทำละลาย 100 กรัม
     ไม่ละลาย : ตัวละลายได้น้อยกว่า 0.1 กรัม ในตัวทำละลาย 100 กรัม หรือไม่ละลายเลย
ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
ถนัด ศรีบุญเรือง  และคณะ . วิทยาศาสตร์ ม. 1 . พิมพ์ครั้งที่ 1 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์ .


http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=2215

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น