วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (อังกฤษ: Mammalia) จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง โดยคำว่า Mammalia มาจากคำว่า Mamma ที่มีความหมายว่า "หน้าอก" เป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ที่มีการวิวัฒนาการและพัฒนาร่างกายที่ดีหลากหลายประการ รวมทั้งมีระบบประสาทที่เจริญก้าวหน้า สามารถดำรงชีวิตได้ในทุกสภาพสิ่งแวดล้อม[1] มีขนาดของร่างกายและรูปพรรณสัณฐานที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย ที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะของสายพันธุ์ มีลักษณะเด่นคือมีต่อมน้ำนมที่มีเฉพาะในเพศเมียเท่านั้น เพื่อผลิตน้ำนมเพื่อใช้เลี้ยงลูกวัยแรกเกิด[2] เป็นสัตว์เลือดอุ่น มีขนเป็นเส้น ๆ (hair) หรือขนอ่อน (fur) ปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย เพื่อเป็นการรักษาอุณหภูมิในร่างกาย ยกเว้นสัตว์น้ำที่ไม่มีขน
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ไม่จัดอยู่ในประเภทสัตว์กลุ่มใหญ่ คือมีจำนวนประชากรประมาณ 4,500 ชนิด ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับนก ที่มีประมาณ 9,200 ชนิด และปลาอีกประมาณ 20,000 ชนิด รวมทั้งแมลงอีกประมาณ 800,000 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นสัตว์บก เช่น สุนัข ช้าง ลิง เสือ สิงโต จิงโจ้ เม่น หนู ฯลฯ สำหรับสัตว์น้ำที่จัดเป็นเลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ได้แก่ โลมา วาฬ มานาทีและพะยูน แต่สำหรับสัตว์ปีกประเภทเดียวที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมคือค้างคาว ซึ่งกระรอกบินและบ่างนั้น ไม่จัดอยู่ในประเภทของสัตว์ปีก เนื่องจากใช้ปีกในการร่อนไปได้เพียงแค่ระยะหนึ่งเท่านั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่ออกลูกเป็นตัว ยกเว้นตุ่นปากเป็ดและอีคิดนาเท่านั้นที่ออกลูกเป็นไข่
วิวัฒนาการ
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีวิวัฒนาการในระยะตอนต้นของมหายุคมีโซโซอิก ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานก่อนหน้าที่ไดโนเสาร์จะมีวิวัฒนาการจนถึงระดับสูงสุด มีกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มหนึ่ง ที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายคลึงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมปรากฏขึ้น ได้แก่เธอแรพสิด (Therapsids) ที่มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลาน เธอแรพสิดมีการเปลี่ยนแปลงร่างกาย รวมทั้งโครงสร้างหลาย ๆ อย่าง จนมีลักษณะใกล้เคียงกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในปัจจุบัน แต่เดิมเธอแรพสิด จะมีรยางค์สองข้างที่ตั้งฉากออกมาจากด้านข้างของลำตัว ตามลักษณะของสัตว์เลื้อยคลานในมหายุคมีโซโซอิก ต่อมาได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ รยางค์ที่เคยตั้งฉากจากด้านข้างของลำตัว เปลี่ยนเป็นเหยียดตรงและแนบชิดกับลำตัวแทน ทำให้สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพในการล่าเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างร่างกายของสัตว์เลี้ยง ลูกด้วยนม ส่วนที่สำคัญที่สุดคือกะโหลกศีรษะ มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของระบบทางเดินของอาหารและอากาศภายในช่องปากแยกออก จากกัน ช่วยทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมสามารถหายใจได้อย่างสะดวกในขณะที่คาบ เหยื่อเอาไว้ในปาก และช่วยให้เวลาเคี้ยวและย่อยอาหารภายในปากมีความยาวนานมากกว่าเดิม ซึ่งในสายของการวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม กลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในระยะแรก จะยังคงลักษณะของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมไว้ 2 รูปแบบคือ การมีขนปกคลุมร่างกายและการมีต่อมน้ำนมเพื่อสำหรับเลี้ยงลูกอ่อน[3]
ในปัจจุบัน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมส่วนใหญ่จัดอยู่ในชั้นย่อยเธอเรีย (Subclass Theria) หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ออกลูกเป็นตัว ซึ่งเป็นการสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในยุคจูแรสซิก เมื่อประมาณ 150 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอีกกลุ่มคือชั้นย่อยโพรโทเธอเรีย (Subclass Prototheria) ที่เป็นกลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในแถบทวีปออสเตรเลีย ได้แก่ แทสเมเนีย (Tasmanial) และนิวกินี (New Guinea) ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่วางไข่ มีรูปร่างและลักษณะแตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น ๆ ที่ยังคงลักษณะของสัตว์เลื้อยคลานเกือบทั้งหมด
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในชั้นย่อยโพรโทเธอเรีย มีความเป็นไปได้สูงในการที่จะสืบเชื้อสายมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิด อื่น ๆ ซึ่งการแบ่งแยกเธอเรียและโพรโทเธอเรียออกจากกัน น่าจะมีมาตั้งแต่ในยุคไทรแอสซิก โดยตามหลักฐานทางธรณีวิทยา ที่นักธรณีวิทยาได้ทำการศึกษาและค้นคว้า พบเพียงชิ้นส่วนกระดูกเล็ก ๆ ในช่วงระหว่างยุคจูแรสซิกและยุคครีเทเชียสเท่า นั้น สืบเนื่องมาจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่มีชีวิตอาศัยอยู่ในยุคนั้น มีขนาดและรูปร่างเล็ก ปราดเปรียวและว่องไว มีลักษณะคล้ายคลึงกับกระรอก หรืออาจจะมีขนาดเล็กกว่าเพียงเล็กน้อย มีกระดูกที่เปราะบาง แตกหักได้ง่าย ทำให้เมื่อตายไป โครงกระดูกกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ได้ยาก
เมื่อไดโนเสาร์เริ่มสูญพันธุ์จากเหตุการณ์อุกกาบาตพุ่งชนโลก ในขณะที่เริ่มมหายุคซีโนโซอิกนั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเริ่มเพิ่มจำนวนประชากร แพร่กระจายเผ่าพันธุ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการเริ่มยุคสมัยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เมื่อประมาณ 70 ล้านปีมาแล้ว โดยอาจเป็นผลกระทบมาจากสถานะของสัตว์เลื้อยคลานในระบบนิเวศ (ecological niche) ที่เกิดช่องว่างลงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเข้ามาแทนที่ และอาจมีเหตุผลอื่น ๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น ความว่องไวและปราดเปรียวของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม การที่สามารถปรับและรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ แม้จะอยู่ในสภาวะอากาศแบบใดก็ตาม การมีขนปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย การมีสายรกที่เป็นสายใยเชื่อมต่อระหว่างแม่และตัวอ่อน ตลอดไปจนถึงการเลี้ยงดูลูกเมื่อถือกำเนิดออกมา
เหตุผลสำคัญที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม สามารถมีชีวิตอยู่รอดจากมหายุคซีโนโซอิกจนถึงปัจจุบัน คือการที่เป็นสัตว์ที่มีความฉลาดกว่าสัตว์ชนิดอื่น ๆ ในยุคเทอร์เชียรี (Tertiary) หรือเมื่อประมาณ 55 - 30 ล้านปีมาแล้ว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมถือเป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการจนสูงสุด และมีจำนวนชนิดมากที่สุดเช่นกัน และหลังจากนั้นจำนวนชนิดก็เริ่มลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ เริ่มมีการวิวัฒนาการและปรับเปลี่ยนรูปแบบ โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 1 ล้านปีสุดท้าย ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการทำลายล้างของมนุษย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ตามเข็มนาฬิกาจากบนซ้าย ยีราฟ, ค้างคาว, สิงโต, เม่น ล้วนจัดอยู่ในประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีลักษณะที่แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ อย่างชัดเจน มีลักษณะทั่วไปคือตลอดทั่วทั้งลำตัวมีขนปกคลุม (hair) แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางชนิด อาจมีการวิวัฒนาการของร่างกายให้มีจำนวนเส้นขนลดน้อยลง มีผิวหนังที่ปกคลุมทั่วทั้งร่างกายและมีต่อมเหงื่อ (sweat glands) ต่อมกลิ่น (scent glands) ต่อมน้ำมัน (sebaceous glands) และต่อมน้ำนม (mammary glands) มีฟันที่แข็งแรงสำหรับล่าเหยื่อและบดเคี้ยวอาหารจำนวน 2 ชุด (diphyodont) ทั้งบริเวณขากรรไกรด้านบนและขากรรไกรด้านล่าง มีฟันชุดแรกคือฟันน้ำนม (milk teeth) ที่จะถูกแทนที่ด้วยฟันแท้ (permanent teeth) มีเปลือกตาที่สามารถเคลื่อนไหวได้ นัยน์ตา 2 ข้างสามารถกลอกไปมาเพื่อใช้สำหรับมองเห็นและป้องกันตัวเองจากศัตรู รวมทั้งมีใบหูที่อ่อนนุ่ม
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางชนิด มีการวิวัฒนาการด้วยการปรับเปลี่ยนรยางค์ทั้ง 2 คู่ ให้เป็นไปตามแบบของแต่ละสายพันธุ์หรือในการดำรงชีวิต เช่นวาฬที่ แต่เดิมจัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยบนบก และมีการวิวัฒนาการปรับเปลี่ยนตัวเองด้วยการลดรยางค์จากเดิมที่เป็นขาคู่ หน้า ให้กลายเป็นครีบเพื่อสำหรับอาศัยในท้องทะเล จากหลักฐานโครงกระดูกของวาฬ เมื่อทำการเปรียบเทียบลักษณะของกระดูกบริเวณครีบหน้า จะเห็นว่ามีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงด้วยการลดรยางค์คู่หน้า จากเท้าหน้าให้กลายเป็นครีบ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางชนิดอาจลดรยางค์ลงหรือหายไปเลยก็มี ทั้งนี้ก็เพื่อการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่าง ๆ และสำหรับการดำรงชีวิต มีระบบหมุนเวียนภายในร่างกาย ที่ประกอบด้วยหัวใจที่มี 4 ห้องเช่นเดียวกับมนุษย์ มีเม็ดเลือดแดงที่มีลักษณะกลมแบน และเว้าทั้ง 2 ข้าง รวมทั้งไม่มีนิวเคลียสเป็นส่วนประกอบ[4]
สามารถหายใจได้ด้วยปอดและมีกล่องเสียงสำหรับขู่คำราม เช่นแมว เสือ สิงโต เป็นต้น มีกะบังลม (diaphragm) มีลักษณะเป็นแผ่นกล้ามเนื้อทำหน้าที่กั้นระหว่างช่องอกและช่องท้อง มีระบบขับถ่ายที่ประกอบไปด้วยไตแบบเมทาเนฟรอส (metanephros) และมีท่อปัสสาวะ (ureter) ที่ทำหน้าที่เปิดเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ (urinary bladder) และมีสมองที่มีการเจริญอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะสมองในส่วนนีโอซีรีบรัม (neocerebrum) รวมทั้งมีเส้นประสาทสมองจำนวน 12 คู่[5]
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของลักษณะทั่วไปของสัตว์ เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมคือ การรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ แม้สภาพอากาศจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยการใช้พลังงานความร้อนที่เกิดจากเมทาโบลิ ซึมภายในร่างกาย (endothermic) หรืออาจจะกล่าวได้ในอีกทางหนึ่งที่ว่า อุณหภูมิร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจะคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อม (homeothermic) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสัตว์เลือดอุ่น (warm-blooded)
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมีเพศที่แบ่งแยกชัดเจน สามารถรู้ได้ทันทีว่าเป็นเพศผู้หรือเพศเมีย (dioeceous) สืบพันธุ์โดยการปฏิสนธิภายในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเพศเมีย ตัวอ่อนภายในท้องจะมีสายรกสำหรับยึดเกาะ (placental attachment) และเจริญเติบโตอยู่ภายในมดลูก มีเยื่อห่อหุ้มตัวอ่อน (fetal membrane) และมีน้ำนมจากต่อมน้ำนม เพื่อสำหรับเลี้ยงดูลูกอ่อน ทั้งนี้มีการยกเว้นในกรณีของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในอันดับโมโนทรีมาทา ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดเดียวเท่านั้นที่ออกลูกเป็นไข่ก่อนจะฟัก ออกมาเป็นตัวอ่อน และเจริญเติบโตจนมีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวที่โตเต็มวัย
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมและนก เป็นสัตว์ที่มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เลื้อยคลาน ทำให้มีโครงสร้างของร่างกายที่มีความคล้ายคลึงกันระหว่างสัตว์ทั้ง 3 กลุ่ม แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เด่นชัดที่สุดคือ "มีขนปกคลุมทั่วทั้งร่างกาย" แม้ว่าในบางชนิดเช่นวาฬ จะลดจำนวนของขนลงไป หรือแม้แต่เกล็ดของสัตว์เลื้อยคลานที่เป็นต้นกำเนิดของขน จะยังคงหลงเหลืออยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมบางชนิด เช่นเกล็ดบริเวณแผ่นหางของบีเวอร์และหนู เป็นต้น
แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วย นมประสบความสำเร็จ จนมีวิวัฒนาการถึงขีดสุดคือสมองในส่วนนีโอซีรีบรัม ที่มีความเจริญเติบโตอย่างดีเยี่ยม ทำให้มีความสามารถในการปรับตัว รวมถึงพฤติกรรมการกินอยู่ อาศัยและหลับนอน ตลอดจนการเรียนรู้ ความอยากรู้อยากเห็น และมีความฉลาดมากกว่าสัตว์เลื้อยคลานมาก
ที่มาข้อมูล : http://www.trueplookpanya.com/true/knowledge_detail.php?mul_content_id=13296

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น