พริกไทย ราชาแห่งเครื่องเทศ ช่วยรักษา อัลไซเมอร์
พริกไทย ราชาแห่งเครื่องเทศ ช่วยรักษา อัลไซเมอร์ (ธรรมลีลา)
โดย : ป้าบัว
เครื่องเทศที่มีกันอยู่ทุกครัวเรือน "พริกไทย" พริกไทยเม็ดเล็ก ๆ นี่แหละค่ะที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่มีประโยชน์มากมาย ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน (11.3%) แป้ง (50%) แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอาซิน วิตามินซี และมีน้ำมันหอมระเหยที่มีสีเหลืองราว 1-2% เช่น โมโนเทอร์ปีน (monoterperne) และเซสควเทอร์ปีน (sesquiterpene) ไฟนีน (pinene) โอลีโอเรซิน (Oleoresin) 12-14% ประกอบด้วยสารที่ทำให้มีกลิ่นฉุนเย็นเป็นอัลคาลอยด์ คือ ไพเพอรีน (piperine) สารที่ให้รสเผ็ด คือ คาวิซีน (chavicine)ประมาณ 1% และสารพวกฟีนอลิกส์ (Phenolics)
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับพริกไทยกันสักหน่อย (ถึงจะกินทุกวันแต่ก็ยังไม่ค่อยรู้จัก) พริกไทยมีรสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นหอมฉุน เป็นตัวชูรส ช่วยเจริญอาหาร จึงจัดเป็นเครื่องเทศยอดนิยมของชนเกือบทุกชาติ เพราะเต็มไปด้วยประโยชน์มากมาย จนได้ชื่อว่าเป็น "ราชาแห่งเครื่องเทศ" (King of Spices) ที่ผู้คนใช้กันมานับพัน ๆ ปี เป็นพืชพื้นเมืองของอินเดีย เพราะมีแหล่งกำเนิดอยู่แถวชายฝั่งมะละบาร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ซึ่งปัจจุบันอินเดียเป็นผู้ผลิตและส่งออกพริกไทยรายใหญ่ของโลก
พริกไทยมี 3 ชนิด คือ พริกไทยดำ (Black Pepper) พริกไทยขาวหรือเรียกว่า พริกไทยล่อน (White Pepper) และพริกไทยอ่อนหรือพริกไทยสด (Green Pepper) ทั้ง 3 ชนิดนี้ก็มาจากต้นเดียวกันค่ะ พริกไทยดำมาจากผลพริกไทยที่โตเต็มที่มีสีเขียวเข้มจัด นำมาตากแดดให้แห้งจนเป็นสีดำ ส่วนพริกไทยขาวนั้น มาจากผลสุกที่แก่จัดจนเป็นสีแดงมาแช่น้ำ นำมาลอกเปลือกออก แล้วตากแดดให้แห้ง ก็จะได้ผลสีขาว ส่วนพริกไทยอ่อนก็คือผลของพริกไทยที่ยังโตไม่เต็มที่นั่นเอง
คราวนี้มาดูกันว่าความมหัศจรรย์ทางยาของราชาเครื่องเทศ มีมากน้อยแค่ไหนในตำรายาไทย กล่าวว่า
รากพริกไทย มีรสร้อน แก้ปวดท้อง แก้ลมวิงเวียน ขับลมในลำไส้ ช่วยย่อยอาหาร
เถาพริกไทย รสร้อน แก้ท้องร่วงอย่างรุนแรง แก้เสมหะในทรวงอก
ใบพริกไทย รสเผ็ดร้อน แก้ลม แก้จุกเสียด แน่น ปวดมวนท้อง
ดอกพริกไทย รสเผ็ดร้อน แก้ตาแดง
เมล็ดพริกไทย รสเผ็ดร้อน แก้ลม อัมพฤกษ์ บำรุงสายตา แก้ท้องอืดท้องเฟ้อแก้เสมหะ แก้ตกขาว
ส่วนทางแพทย์แผนปัจจุบันพบว่า พริกไทยกระตุ้นการไหลของน้ำลายและน้ำย่อย ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร กระตุ้นให้กล้ามเนื้อในกระเพาะและลำไส้เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอ ทำให้อาหารถูกย่อยง่าย
เมื่อนำพริกไทยมากลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันหอมระเหย เรียกว่า 'น้ำมันพริกไทย' โดยพริกไทยดำจะมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยสูงกว่าและมีกลิ่นฉุนกว่าพริกไทยขาว ในทางเภสัชกรรม พบว่าพริกไทยมีน้ำมันหอมระเหยประมาณ 1-3% โอลีโอเรซิน (Oleoresin) 12-14% ซึ่งประกอบด้วยสารสำคัญที่ทำให้มีกลิ่นฉุนและรสร้อนคือ ไพเพอรีน (PiPerine) ซึ่งมีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า พริกไทยช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น ช่วยจับสารก่อมะเร็งในอาหาร และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์บางชนิด และอาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ที่คนโบราณใช้พริกไทยผง เป็นสารถนอมอาหารไม่ให้บูดเน่า
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ไพเพอรีนสามารถใช้แก้ลมบ้าหมู (Antiepileptic)ได้ และเมื่อเตรียมอนุพันธ์ของไพเพอรีน คือ Antiepilepsinine พบว่า สามารถแก้อาการชักได้ผลดีกว่า และมีผลข้างเคียงน้อยกว่ารวมทั้งน้ำมันหอมระเหยในพริกไทยนี้ยังช่วยแก้หวัด ได้ โดยได้ถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันที่ใช้สูดดมอีกด้วย และการดมน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากพริกไทยนี้ ยังสามารถลดความอยากสูบบุหรี่ และอาการหงุดหงิดได้เป็นอย่างดี
ล่าสุด คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำพริกไทยดำมาสกัดเพื่อใช้รักษาภาวะความจำบกพร่อง โดยพบว่าสารไพเพอรีนในพริกไทยดำ มีคุณสมบัติช่วยทำให้สมองส่วนที่บกพร่องสามารถกู้กลับคืนมาได้
ส่วนพริกไทยอ่อนให้แคลเซียมในปริมาณสูงมาก รองลงมาก็มีทั้งฟอสฟอรัส วิตามินซี และเบต้า-แคโรทีน ที่ช่วยป้องกันมะเร็ง
ชาวจีนใช้พริกไทยเพื่อระงับอาการปวดท้อง แก้ไข้มาลาเรีย แก้อหิวาตกโรค และเพราะเหตุที่เปลือกของพริกไทยมีน้ำย่อยสำหรับย่อยไขมัน ตำราโบราณจึงเชื่อกันว่าพริกไทยสามารถลดความอ้วนได้
แม้ว่าพริกไทยจะมีสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากเพียงใด แต่การกินพริกไทยจำนวนมากเกินไป ย่อมเกิดผลข้างเคียงขึ้นมาได้เหมือนกันค่ะ เพราะนักวิจัยคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ออกมาเตือนว่า การกินพริกไทยดำครั้งละมาก ๆ ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เพื่อเสริมความงาม ทำให้ผิวพรรณผ่องใส แถมช่วยลดความอ้วน ตามที่มีการโฆษณากันนั้นต้องระวังให้มากค่ะ เพราะอาจจะได้รับสารอัลคาลอยด์สะสม เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งขึ้นมาได้เหมือนกัน ทางที่ดีควรจะบริโภคแต่น้อย เพราะร่างกายสามารถขับออกมาได้
ช่วงอากาศหนาว ๆ กินพริกไทยสักหน่อย ก็จะช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้นได้ค่ะ
ที่มา
http://health.kapook.com/view4454.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น