วันอังคารที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2554

"กระชายดำ" ทำยา-อาหารเสริม

วช. ชู "กระชายดำ" ทำยา-อาหารเสริม เอกชนรับต่อยอดสู่อุตสาหกรรม



(จาก ซ้าย) นายสุวิทย์ งามภูพันธ์, ศ.ดร.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการ วช. และรศ.ดร.บังอร ศรีพานิชกุล ร่วมในพิธีลงนามในข้อตกลงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์และกรรมวิธี การผลิตสารสกัดหยาบกระชายดำที่มีปริมาณฟลาโวนอยด์สูงให้แก่บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 53


เภสัชฯ มข. พัฒนาเทคนิคสกัดสารสำคัญในกระชายดำพร้อมศึกษาฤทธิ์ทางยา พบสรรพคุณเพียบ ทั้งฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ลดเครียด บำรุงสมองและความจำ เอกชนขอใช้สิทธิ์ผลิตระดับอุตสาหกรรม ทำยาบำรุงผู้สูงอายุ หวังยกระดับสมุนไพรไทยสู่สากล

รศ.ดร.บังอร ศรีพานิชกุล นักวิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า กระชายดำเป็นพืชสมุนไพร ที่มีการปลูกกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวเขาเผ่าม้งถือว่ากระชายดำเป็นสมุนไพรประจำเผ่า ที่มีคุณสมบัติเป็นยาอายุวัฒนะ แก้ปวดเมื่อย เหนื่อยหอบ บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง

รวมทั้งกระชายดำยังช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งเป็นฤทธิ์ของกระชายดำที่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก ทำให้มีการนิยมบริโภคกระชายดำมากขึ้นโดยนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์หลายรูปแบบ ส่งผลให้กระชายดำมีราคาสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 800-1,000 บาท เมื่อหลายปีก่อน แต่ปัจจุบันมีราคาเพียงไม่10-30 บาทต่อกิโลกรัม

"เป็นที่ทราบกันดีว่า กระชายดำมีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง โดยเฉพาะฤทธิ์ต้านการอักเสบ แต่ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่แน่ชัด จึงได้วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริมจากสารสกัดกระชายดำ และศึกษาการออกฤทธิ์เพื่อยืนยันสรรพคุณที่มีการอ้างถึง และก็พบว่าให้ผลตรงกันกับที่กล่าวอ้าง" รศ.ดร.บังอร กล่าว

ทั้งนี้ ในการทดลอง นักวิจัยเลือกใช้เหง้ากระชายดำที่ปลูกใน จ.เลย และควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์โดยวิธีควบคุมปริมาณสารสำคัญที่สกัดได้ คือ สารฟลาโวนอยด์ประเภท เมทอกซีฟลาโวน (methoxyflavones) จำนวน 11 ตัว

จากการศึกษาในแล็บและในสัตว์ทดลอง นักวิจัยพบว่าสารสกัดกระชายดำมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยยับยั้งเอนไซม์คอกซ์-2 (COX-2) และสามารถลดอาการบวมและอักเสบในหนูทดลองได้เมื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบเจ ลทาผิวหนัง ซึ่งให้ผลดีเทียบเท่ายามาตรฐานกลุ่มเอ็นเซดส์ (NSAIDS) และสเตียรอยด์ (Steroid)

สารสกัดจากกระชายดำยังมีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการไหลของเลือดในสมองหนู ช่วยเพิ่มการเรียนรู้และความจำได้ในหนูที่มีภาวะเครียด ป้องกันการตายของเซลล์ประสาทที่ถูกเหนี่ยวนำจากภาวะสมองขาดเลือด และช่วยกระตุ้นพฤติกรรมทางเพศของหนูและการสืบพันธุ์ของสาหร่ายเซลล์เดียวได้ เทียบเท่ากับยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศกลุ่มซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ซึ่งได้มีการศึกษาทางคลินิกในกลุ่มผู้สูงอายุและอาสาสมัครเพศชายแล้วพบว่า ให้ผลสอดคล้องกัน

นอกจากนั้นยังพบว่า กระชายดำมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากและทางเดินอาหาร ยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งตับจากการทดลองในระดับเซลล์ และพบฤทธิ์ช่วยลดน้ำตาลและไขมันในเลือดจนเกือบเท่าปกติเมื่อทดสอบในสัตว์ ทดลอง และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างทดสอบระดับคลินิกในอาสาสมัครที่มีไขมันในเลือดสูง

"การนำพืชสมุนไพรมาพัฒนาเป็นยา ต้องทดสอบความปลอดภัยก่อนเป็นอันดับแรก จากการศึกษาพิษวิทยาโดยให้หนูทดลองกินสารสกัดกระชายดำต่อเนื่องทุกวันเป็น เวลา 6 เดือน ไม่พบว่ามีความผิดปกติใดๆ ต่ออวัยวะสำคัญ และมีความปลอดภัยในระดับที่ยอมรับได้ แต่ถ้าเป็นในคน จะไม่แนะนำให้กินต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และยังต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงความปลอดภัยในระยะยาวเกินกว่านั้น" รศ.ดร.บังอร กล่าวต่อทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชน

ทั้งนี้ นักวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการศึกษาและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพและการทดสอบฤทธิ์ทางคลินิกของสารสกัด กระชายดำมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน และล่าสุดได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์และกรรมวิธีการผลิตสารสกัด หยาบกระชายดำที่มีปริมาณฟลาโวนอยด์สูงให้แก่บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและเวชสำอาง

นายสุวิทย์ งามภูพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด เปิดเผยว่า ปกติการนำสมุนไพรมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ยา จะมีปัญหาในเรื่องปริมาณสารออกฤทธิ์ไม่คงที่ แต่บางกอกแล็ปเป็นบริษัทแรกๆ ที่สามารถพัฒนายาจากสมุนไพรจนได้รับการยอมรับในระดับสากล และใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาลทั่วไปคือ เจลพริกลดอาการปวดอักเสบ

"เราสนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาจากกระชายดำมานานแล้ว เมื่อได้รับการถ่ายเทคโนโลยีการสกัดกระชายดำจาก วช. ในครั้งนี้ จึงมองว่าจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ยาสำหรับผู้สูงอายุก่อน เพราะสารสกัดกระชายดำมีฤทธิ์โดดเด่นในด้านการลดปวดอักเสบ ช่วยบำรุงสมอง เพิ่มความจำ และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ โดยหลังจากได้ผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วจะทำการทดสอบในระดับคลินิกร่วมกับแพทย์ให้ มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนเพิ่มเติม" นายสุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ นายสุวิทย์ยังเปิดเผยว่า บริษัทพร้อมนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดทันที่ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะ กรรมการอาหารและยา (อย.) และในอนาคตจะขยายสู่ผลิตภัณฑ์รูปแบบอื่น รวมทั้งต่อยอดสู่การคัดเลือกสายพันธุ์และควบคุมคุณภาพตั้งแต่การเพาะปลูก กระชายดำ.


เหง้ากระชายดำ วัตถุดิบสำคัญที่นำมาสกัดสารสำคัญเพื่อใช้ประโยชน์ทางยาและบำรุงสุขภาพ


สารสกัดกระชายดำในรูปแผ่นฟิล์มสำหรับฆ่าเชื้อในปาก (ซ้ายสุด), ในรูปแคปซูลสำหรับรับประทาน (กลาง) และรูปแบบผงสำหรับชงดื่ม (ขวาสุด)


ที่มา
ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น